ARTICLE

บทความ

เคลือบแก้วและเคลือบเซรามิก อะไรดีกว่ากัน หรือต่างกันอย่างไร?

สรุปมาให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้

จริงๆแล้ว คืออย่างเดียวกัน เพียงแต่ว่า เคลือบแก้ว ถูกเรียกจนติดปากมาก่อนโดยต้นกำเนินอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ทางญี่ปุ่นเรียกเคลือบแก้ว เพราะว่าน้ำยาเวลาแข็งตัวแล้วแข็งใสเหมือนแก้ว ก็เลยเรียกทับศัพท์ว่า Glass Coating พี่ไทยเราก็เรียกตรงๆว่า "เคลือบแก้ว" ต่อมาเมื่อไม่นานเท่าไหร่มานี้ เราได้ยินคำว่าเคลือบเซรามิก มาแทนคำว่าเคลือบแก้วเยอะ อ้างว่า ใหม่กว่า ดีกว่า แข็งกว่าบ้าง จริงๆ มันก็คืออย่างเดียวกันกับเคลือบแก้วหละ เพียงแต่เค้าเรียกตามปฏิกิริยาตามกระบวนการเซ็ตตัว ซึ่งนั่นก็คือ "เซรามิก" แต่พอเซ็ตตัวแล้ว มีลักษณะแข็งใสเหมือนแก้ว ก็เลยเรียกว่าเคลือบแก้ว

จริงๆ มันก็อารมณ์เดียวกับการซื้อ มาม่า กับไวไว หละ   ทั้ง 2 อย่างจริงๆ แล้วคือ บะหมี่สำเร็จรูป พอเข้าใจกันแล้วนะครับ

** เคลือบแก้วไม่ได้เก่ากว่าเคลือบเซรามิก และเซรามิกไม่ได้ดีกว่าเคลือบแก้ว อยู่ที่ว่าใครจะเรียกอะไร ก้ได้ทั้งนั้น **

เจาะลึกทางทฤษฎีเกี่ยวกับ เคลือบแก้วและเคลือบเซรามิกต่างกันอย่างไร?

ปัจจุบันธุรกิจการบริการเคลือบสีรถออกมามากมาย โดยเฉพาะการเคลือบแข็ง ซึ่งเราน่าจะเคยได้ยินศัพท์ต่างๆ ที่บางทีอาจฟังแล้วสับสน ไม่ว่าจะเป็น เคลือบแก้วเคลือบเซรามิก เคลือบคริสตัล เคลือบเทฟล่อน หรืออื่นๆ วันนี้เราจะมาอธิบายข้อมูลให้ผู้ที่สนใจเข้ารับบริการเคลือบแข็งสีรถ และคำที่น่าจะเคยได้ยินบ่อยที่สุดคือ เคลือบแก้ว และเคลือบเซรามิก ว่าต่างกันหรือไม่อย่างไร? ซึ่งหากย้อนไปเมื่อหลายปีที่แล้ว เราจะได้ยินการให้บริการเคลือบสีรถยนต์ประเภทเคลือบแข็งอยู่คำเดียวคือคำว่า “เคลือบแก้ว” ส่วนคำว่า “เคลือบเซรามิค”เพิ่งน่าจะได้ยินกันมาช่วงหลังๆ ซึ่งก็ให้ข้อมูลที่แตกต่างกันไป บ้างบอกเคลือบเซรามิคใหม่กว่า ดีกว่า แข็งกว่า จริงๆแล้วมันเป็นอย่างไรกันแน่ เรามาย้อนดูว่าทำไมเราถึงเรียกอย่างนั้น ทั้งนี้ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นเราจะอธิบายเปรียบเทียบในเชิงที่เกี่ยวกับธุรกิจการเคลือบแข็งของสีรถที่เกี่ยวข้องกับคำนิยาม 2 คำนี้กันนะครับ

คำว่าเคลือบแก้วมาจากไหน?

ก่อนหน้านี้สารตั้งต้นในการผลิตน้ำยาเคลือบแก้วนั้นหลักๆจะใช้ ซิลิคอน ไดออกไซด์ (อังกฤษ: silicon dioxide) หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า ซิลิกา (ลาติน silex) สูตรทางเคมีคือ Sio2 และที่เราใช้คำว่าเคลือบแก้วสำหรับรถยนต์นั้นก็เนื่องมาจาก 2 เหตุผลหลักๆก็คือ ซิลิกาเป็นวัสดุที่มักถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการผลิตแก้ว คริสตัล ขวดน้ำ เจล เป็นต้น เมื่อนำน้ำยาเคลือบแก้วที่เราใช้เคลือบสีรถ ตกผลึก หรือเซ็ตตัว ก็จะเป็นผลึกแข็ง ใส เหมือนแก้ว

“นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงเรียกน้ำยาประเภทนี้ว่าน้ำยาเคลือบแก้ว เพราะเนื่องจากเป็นคำนิยามง่ายๆตรงๆตามจุดประสงค์ของสารตั้งต้น และความใกล้เคียงในรูปลักษณ์หลังจากตกผลึกแล้ว”

คำว่าเคลือบเซรามิกมาจากไหน?

ผ่านมา 2-3 ปีหลัง โดยเฉพาะในช่วงนี้ คำว่าเคลือบเซรามิกพยายามมาแทนที่ หรือมาแข่งขันคำว่าเคลือบแก้วทางธุรกิจ โดยแนวโน้มการให้ข้อมูลเป็นลักษณะที่เหมือนเหนือกว่า ดีกว่าเคลือบแก้ว โดยอ้างว่าแข็งกว่าบ้าง ทนกว่าบ้าง เหตุผลเหล่านี้มาจากไหน? เชื่อถือได้หรือไม่ อย่างไร? เรื่องนี้ต้องเหลากันยาวหน่อยลองมาพิจารณาข้อมูลเหล่านี้แล้วนึกภาพตามกันนะครับ

คำว่า “เซรามิก” มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก (Keramos) มีความหมายว่า “สิ่งที่ถูกเผา” ซึ่งในอดีต เซรามิกดั้งเดิมจะถูกนำมาใช้งานมากที่สุด โดยทำมาจากดินเหนียวเป็นหลัก เพื่อนำมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น จาน ชามดินเผา กระเบื้อง หรือ อิฐ เป็นต้น

ต่อมามีประพัฒนาเซรามิกประเภทใหม่ๆมากมาย คำว่า “เซรามิก”จึงมีความหมายที่ค่อนข้างกว้าง คำจำกัดความจะหมายถึงองค์ประกอบสองส่วนเข้าด้วยกัน นั่นคือ วัสดุ และกระบวนการ เช่น การนำดินเหนียว(วัสดุ)มาปั้นและเผา(กระบวนการ) เราจะเรียกเป็นเครื่องปั้นดินเผา นั่นก็คือ เซรามิกประเภทหนึ่ง หรือหากเราปั้นเป็นจานแล้วเผา ก็สามารถเรียกว่า จานเซรามิกได้เช่นกัน

เคลือบแก้วเคลือบเซรามิก เกี่ยวข้องกันอย่างไร?

น้ำยาเคลือบแก้วที่มีสารตั้งต้นมาจาก “ซิลิกา” เมื่อทำปฏิกิริยากับอากาศและอุณหภูมิ จะมีความเครียดน้อยลง มีผลึกที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น แตกหักยากขึ้น มีความเป็นเนื้อเดียวกัน นั่นก็ถือเป็นเซรามิกประเภทหนึ่งเช่นเดียวกัน (ซิลิกา=วัสดุ,ทำปฏิกิริยากับอากาศและอุณหภูมิ=กระบวนการ) ดังนั้น เมื่อเรานำมาใช้งานโดยการเคลือบแล้วเกิดปฏิกิริยาดังกล่าว นั่นก็คือการ “เคลือบเซรามิก” แต่ว่าน้ำยานี้เมื่อเซ็ตตัวแล้วจะเป็นผลึกใสคล้ายแก้ว และสารตั้งต้น(ซิลิกา)ก็มักจะถูกนำมาผลิตแก้ว เราจึงสามารถเรียกว่า “เคลือบแก้ว” ได้เช่นกัน คำว่าเคลือบเซรามิก จึงเป็นคำนิยามตามประเภทของวัสดุและกระบวนการรวมกัน ส่วนคำว่าเคลือบแก้วจะเป็นคำนิยามแบบเปรียบเทียบผลึกที่เหมือนแก้ว หรือเพราะสารตั้งต้น(ซิลิกา)นี้มักนำไปผลิตเป็นแก้วนั่นเอง ด้วยเหตุผลนี้เราจึงสามารถเรียกสารเคลือบแข็งประเภทนี้ว่า “เคลือบแก้ว” หรือเคลือบ “เซรามิก” ก็ได้

สารตั้งต้นของน้ำยา เคลือบแก้วเคลือบเซรามิค ประเภทอื่นๆ

มากไปกว่านั้น ยังมีน้ำยาประเภทเคลือบแข็งที่ใช้สารประกอบประเภทอื่น ไม่ว่าจะเป็น ไททาเนียมไดออกไซด์ (Titanium dioxide:TiO2), ซิลิกอนคาร์ไบด์ (SiC) ซึ่งสามารถทำปฏิกิริยาให้เป็นเซรามิกประเภทหนึ่งได้ แต่วัสดุเหล่านี้อาจไม่นิยมมาใช้ในการผลิตแก้วมากนัก เช่น ไททาเนียมไดออกไซด์มักนำไปใช้ในการผลิตเครื่องมืออิเลคทรอนิก เป็นสารเคลือบกระจก ใช้เป็นส่วนผสมในการทำเครื่องสำอางค์ หรือ ซิลิกอนคาร์ไบด์ ที่มักใช้ในการผลิตแหวนกันซึม หรือใช้ในการเป็นสารเคลือบกระสวยอวกาศ เป็นต้น

จึงอาจมีการกล่าวอ้างว่าเป็นการเคลือบเซรามิก ไม่ใช่เคลือบแก้วในการให้ข้อมูลต่อผู้บริโภค นั่นแท้จริงแล้วเป็นเพียงการเปรียบเทียบในแง่ความนิยมในการนำสารเหล่านั้นไปใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ไม่ได้เน้นนำมาผลิตแก้ว จึงเรียกการเคลือบเหล่านี้ว่าเป็นเคลือบเซรามิกไม่ใช่เคลือบแก้ว นั่นไม่ใช่สาระสำคัญ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่จะเรียกว่าเคลือบแก้ว หรือเคลือบเซรามิคก็แล้วแต่นั้น ค่าความแข็งไม่ได้วัดกันตามมาตราโมส (Mohs scale of mineral hardness) แต่วัดค่าความแข็งเป็น “ค่าการทดสอบตามแรงกดของระดับดินสอ” (Hardness of Pencil scale) เท่านั้น

จำนวนการดู 395 ครั้ง
วันที่อัพเดทล่าสุด :